วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ศาลยุติธรรมไทย

ศาลยุติธรรมไทย
ศาลไทย เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อำนาจตุลาการนั้นเป็นสาขาหนึ่งของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล ศาลจึงปฏิบัติการในพระปรมาภิไธย (อังกฤษ: In the Name of the King)
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน คือ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 197 ถึงมาตรา 228 กำหนดศาลไทยมีสี่ประเภท ดังต่อไปนี้
ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลยุติธรรม
ศาลปกครอง
ศาลทหาร
ประเทศไทยใช้กฎหมาย
ระบบซีวิลลอว์ (อังกฤษ: civil law) หรือระบบประมวลกฎหมาย ดังนั้น คำตัดสิน คำพิพากษา และคำตัดสินของศาลไทย จึงไม่ได้เป็นทั้งกฎหมายไทยและบ่อเกิดของกฎหมายไทย หากเป็นแต่การปรับใช้กฎหมายเท่านั้น
ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย
ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค
ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว
สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา
การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น